การนั่งสมาธิตามแนววิปัสสนากรรมฐาน
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมฐาน
กรรมฐาน มี ๒ แบบ คือ (๑) สมถกรรมฐาน (๒) วิปัสสนากรรมฐาน
การเจริญสมถกรรมฐาน เป็นการเจริญสมาธิเพื่อมุ่งหมายให้ได้ สมาธิที่กล้าและลึก เป็นการข่มกิเลสไว้ ณ ขณะที่กำลังมีสมาธิ แต่ไม่ได้ถอนหรือประหารกิเลสได้แม้แต่น้อย เมื่อหมดสมาธิ หรือเมื่อออกจากสมาธิ กิเลสก็กลับฟูขึ้นได้เหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมได้ การเจริญสมถกรรมฐานจะได้ฌานและได้ อภิญญาคืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ เมื่อได้แล้วก็อาจหลงติด หลงในฤทธิ์ ที่ตนได้มา และยังสามารถนำฤทธิ์นั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษได้
ส่วนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นไปเพื่อการเพิ่มพูน ‘ปัญญา’ โดยส่วนเดียว การเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้เน้นเอาสมาธิ ที่กล้าและลึก แต่เน้นการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ ปัญญาจากการเจริญสติและการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นปัญญารู้แจ้งแทงตลอด รู้แจ้งในตน รู้แจ้งในทุกข์ รู้แจ้งความเป็นจริงของโลก รู้แจ้งกิเลส รู้เท่าทันกิเลส ปัญญาที่สะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จากการค่อยๆ รู้แจ้งเท่าทัน ในสิ่งทั้งปวงเหล่านี้เอง ที่จะค่อยๆ ประหารกิเลสเป็นขณะๆ ไป กิเลสก็จะเบาบางลงได้จริง เพราะไม่ได้ข่มไว้แบบสมถกรรมฐาน แต่ว่าค่อยๆ ตัดรากถอนโคนกิเลสไปทีละนิด กิเลสจึงตายไปได้ คือหมดไปได้ทีละน้อย ได้จริงๆ จนในที่สุดเมื่อปัญญาแก่กล้าจนถึงที่สุด ปัญญาตัวนี้ก็จะ สามารถประหารกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ เป็นสมุจเฉทปหาน เมื่อกิเลสหมด บุคคลก็จะไม่ต้องเกิดอีก คือ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
วิปัสสนากรรมฐาน
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ท่านแนะนำให้ทำต่อเนื่องทุกวัน โดยท่านแนะให้เดินจงกรมก่อนทุกครั้ง แล้วประคองสติต่อจากการ เดินจงกรม ลงนั่งสมาธิ
(๑) ท่านั่ง - สำคัญตรงไม่นั่งพิงอะไร
การนั่งสมาธิแบบวิปัสสนา ต้องดูสัปปายะคือดูความเหมาะสมพอดีของตน จะนั่งเก้าอี้หรือนั่งขัดสมาธิกับพื้นโดยมีอาสนะบางๆ รอง หรือจะนั่งท่าหนึ่งท่าใดที่สบายแก่ตนก็ได้ (แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน)
ดังนั้น จะนั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ หรือว่าจะนั่งกับพื้นขัดสมาธิอยู่ หรือจะนั่งท่าใดๆ ก็ตาม ก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือ พยายามไม่นั่งพิง คือ พยายามนั่งให้หลังไม่พิงกับอะไร เพราะว่าตรงนี้สำคัญ คือ การเจริญสติอยู่นั้น ถ้าเมื่อได้หลังค้อมก้มลงมาข้างหน้า หรือหลังหงายไปไม่ตั้งตรงอยู่ ก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้เผลอสติไป ดังนั้น การไม่นั่งพิงอะไร จะทำให้ดำรงสติอยู่ได้เสมอ และเมื่อเผลอหลับก็ตาม ตกภวังค์ก็ตาม หรืออาการใดๆ เกิด ที่ทำให้หลังไม่ตั้งตรงทรงอยู่อย่างมั่นคง ก็จะได้รู้ตัว และมีสติ ตั้งหลังให้ตรงอยู่เสมอๆ
(๒) การกำหนดสติ
ในการนั่งสมาธิแบบวิปัสสนา จะเป็นการมีสติดูอาการใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นของกายก็ตาม ใจก็ตาม (คือ ที่ตาก็ตาม หู จมูก ลิ้น กายหรือใจก็ตาม) ในขณะนั้นๆ ในวินาทีนั้นๆ กล่าวคือ อะไรเด่นชัด ชัดเจนที่สุด ก็ดูตรงนั้นไปเรื่อยๆ อาทิ ถ้ากายปรากฏชัดเจน ก็เอาสติไปดูกาย ไปเรื่อยๆ ถ้าอาการพองยุบที่ท้องชัดเจน ก็มีสติตามรู้อาการไปเรื่อยๆ ถ้าการกระทบ อาทิ กายส่วนใดที่กำลังกระทบพื้นชัดเจน ก็มีสติ ตามดูตามรู้ไปเรื่อยๆ ถ้ามีเสียงใดๆ มากระทบหู (โสตปสาทหรือประสาทหู) ชัดเจน ก็กำหนดรู้ หรือถ้าเกิดความคิดนึกใดๆ ชัดเจน ก็กำหนดรู้ความคิดนึกนั้นๆ ถ้าเวทนาเกิด เช่นทุกข์หรือสุขทางกายหรือใจก็ตามเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ทุกข์หรือสุขนั้นๆ ไปเรื่อยๆ
(๓) นิมิต ปีติ นิวรณ์ วิปัสสนูปกิเลส
ขณะนั่งสมาธิอยู่ พยายามรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ อาจจะเกิดเห็นภาพต่างๆ ขึ้นมาทางตา เป็นภาพต้นไม้ป่าเขา สถานที่ สวรรค์ นรก ภูติผีปีศาจ เทวดา ฯลฯ ใดๆ ก็ตาม ก็เพียงกำหนดรู้ว่าเห็น แล้วก็กลับมาสติในกายและใจต่อไป โดยไม่ต้องสนใจภาพต่างๆ ที่เห็นนั้น ไม่ต้องนั่งคิดวิเคราะห์ต่อว่าเป็นภาพอะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่ต้องอยากรู้เรื่องต่อ ไม่ต้องตามไปดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ฯลฯ เพียงกำหนดรู้ว่ามีภาพ (สี หรือ รูปภายนอก) มากระทบกับ ตา (จักขุปสาท หรือ ประสาทตา ซึ่งเป็น รูปภายใน) เท่านั้น อันนี้คือ ‘นิมิต’ นิมิตนี้จะมาในรูปของภาพต่างๆ มาเกิดทางตาก็ได้ มาในรูปของเสียง กลิ่น รส ฯลฯ ก็ได้ หน้าที่ของผู้เจริญสติเจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ก็เพียงมีสติกำหนดรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นมากระทบกับตา หรือ หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น แล้วก็ไม่ต้องสนใจต่อนิมิตนั้นๆ ต่อ หันกลับมาเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อม ในอาการอื่นๆ ตรงกายก็ตามหรือใจก็ตามที่กำลังปรากฏชัด ต่อไป
ถ้าหากนั่งสมาธิ (หรือเวลาเดินจงกรมก็ตาม) อยู่ เกิดตัวโยก ตัวโคลง หรือตัวเบาเหมือนจะลอย หรือน้ำตาจะไหล หรือรู้สึกเย็นร้อนขึ้นมา ตรงกายส่วนหนึ่งส่วนใด อาการใดๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใด ก็กำหนดรู้ ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องตกใจ กำหนดรู้ไปเบาๆ สบายๆ และไม่ต้อง ไปสนใจเค้ามาก ถ้ากำหนดรู้แล้วเค้ายังไม่หายไป ไม่ดับไป ก็ค่อยๆ กำหนดสติออกจากสมาธิลืมตาก่อนสักพัก แล้วค่อยหลับตา เจริญสติต่อไป อาการเหล่านี้ เป็นอาการของ ‘ปีติ’ คือ จิตที่ได้มาเจริญ สมาธิ จิตจะเกิดความสงบ ความสงบจากสมาธินั้น เป็นอาหารของ จิตใจ จิตเมื่อได้อาหารที่ชอบก็จะเกิดปีติ ซึ่งแสดงออกมาใน รูปแบบต่างๆ หลากหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียรหรือผู้เจริญสติอยู่ มีหน้าที่เพียงกำหนดรู้สิ่งเหล่านี้ และไม่คล้อยตามไปกับอาการเหล่านี้ คือ กำหนดรู้แล้วระยะหนึ่งอาการเหล่านี้ควรจะดับไป ถ้าอาการเหล่านี้ ดูจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นหรือหนักหนาขึ้น อาทิ กายจะลอยจริงๆ หรือน้ำตา ไหลแรงขึ้น ฯลฯ ก็ควรรีบกำหนดออกจากสมาธิ เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้ รุนแรงขึ้นจนผู้ปฏิบัติใหม่ไม่สามารถจะออกจากสมาธิได้ ปีติหรือพระธรรมปีติ เป็นของดี เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามากไปแรงไป ก็จะกลายเป็นอาการที่สมาธิยิ่งเกิน คือ สมาธิมากไป เกินพอดี จึงควรกำหนดให้อาการเหล่านี้หายไปหรือควรจะออกจาก สมาธิก่อน เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้ยิ่งเกินไป คือ เกินพอดีไป
ถ้าหากนั่งสมาธิอยู่ แล้วเกิดความรู้สึกพอใจรักใคร่อยากได้อะไรขึ้นมา ก็กำหนดรู้ความรู้สึกพอใจรักใคร่อยากได้นั้นๆ (กามฉันทนีวรณ์) ถ้าเกิดความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ คิดร้ายใครหรือเรื่องอะไร (พยาปาทนีวรณ์) ก็กำหนดรู้ ถ้าเกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจใดๆ (อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์) ก็กำหนดรู้อยู่ หรือถ้าเกิดความสงสัย ในข้อธรรมต่างๆ ก็ตามขึ้นมา (วิจิกิจฉานีวรณ์) ก็กำหนดรู้อาการสงสัยนั้นๆ ไป (กำหนดรู้อาการที่สงสัย อาการความสงสัย ไม่ใช่กำหนดรู้เรื่องราวที่สงสัย) ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดเหล่านี้เกิดขึ้น ก็เพียงกำหนดรู้ไปเรื่อยๆ ตามสังเกตตามดูไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการหรือสภาพ (สภาพธรรม) หรือสภาพธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้น จะเบาบางลงหรือหมดไป ดับไป หรือกำหนดรู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีสภาพทางกายหรือทางใจใดๆ ที่เป็นสภาพใหม่ปรากฏขึ้นชัดเจนกว่า ก็วางอาการนี้ไปกำหนด อาการใหม่แทน อาการทั้งหมดในย่อหน้านี้ คือ ‘นิวรณ์’ (สิ่งหรือธรรมที่กั้นจิตใจไม่ให้บรรลุความดีหรือปัญญา)
ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง ผู้ปฏิบัติอาจประสบ กับปรากฏการณ์ต่อไปนี้ ที่เรียกกวันว่า ‘อุปกิเลส ๑๐’ หรือที่เรียกว่า ‘วิปัสสนูปกิเลส’ วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ ท่านว่าจะปรากฏขึ้นแก่ผู้ที่ ปฏิบัติมาถูกทางแล้วเท่านั้น แต่ข้อสำคัญคือ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติรู้ ในอาการใดๆ อาการหนึ่งหรือหลายอาการใน ๑๐ อย่างนี้ อย่างรู้เท่าทัน ไม่ยึดติด ไม่หลงดีใจ ไม่เข้าใจผิดคิดว่าตนคงพ้นกิเลสแล้ว เพราะได้ สัมผัสสิ่งเหล่านี้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง คือ (๑) เห็นโอภาส คือ เห็นแสงสว่างในรูปแบบต่างๆ อาจเท่าแสงหิ่งห้อย ไปจนสว่างทั้งห้อง สว่างทะลุห้อง ฯลฯ (๒) เกิดปีติต่างๆ ตามที่มีรายละเอียดข้างบนแล้ว (๓) เกิดความสงบ (ปัสสัทธิ) จะสงบเงียบ สบบสบาย ไม่ฟุ้งซ่าน เยือกเย็น ไม่กระวนกระวายใจ เบา คล่องแคล่วในการกำหนด ความคิดปลอดโปร่ง (๔) เกิดความสุข ความสบาย ยินดีมาก เพลิดเพลิน สนุกสนานในการ กำหนด ไม่อยากออกจากสมาธิ ภูมิใจดีใจคล้ายจะระงับไม่ได้ หรือ รู้สึกคล้ายกับไม่เคยสุขอะไรอย่างนี้มาก่อน (๕) เกิดศรัทธา เกิดความเชื่อและเลื่อมใสมาก อยากจะให้ทุกคน ได้มาปฏิบัติบ้าง อยากให้การปฏิบัติก้าวหน้าเร็วๆ อยากทำบุญทำทาน นึกถึงบุญคุณของผู้ชวนเรามาปฏิบัติ อยากจะปฏิบัตินานๆ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ (๖) เกิดความเพียร (ปัคคาหะ) ขยันมากไป (ตรงนี้ต้องระวัง เพราะ เพียรเกินไปครูบาอาจารย์บอกว่าอาจทำให้เสียสติได้ จึงต้องตั้งอยู่ใน ทางสายกลางคือความพอดีๆ เสมอ) ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย ไม่ถอยหลัง มีความเพียรมากแต่ถ่ายเดียว แต่สติสัมปชัญญะอ่อนไป ทำให้ฟุ้ง ไม่เป็นสมาธิ (๗) อุปัฏฐานะ (สติ) สติมากเกินจนทิ้งการกำหนดรู้ปัจจุบันไปคิดถึง อดีต อนาคต อาจรู้สึกคล้ายกับตนระลึกชาติได้ (๘) เกิดความรู้ (ญาณ) ที่รู้แบบเข้าใจผิด คิดไปเองว่าตนรู้ถูกแล้ว นึกถึงความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนมา วิพากย์วิจารณ์อารมณ์หรือ อาการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น (๙) อุเบกขา - เกิดการวางเฉย ใจเฉยๆ ไม่ยินดี ไม่เสียใจ ใจลอยๆ เลือนๆ คล้ายกับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร ไม่กระวนกระวาย ใจสงบดี ไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไร อารมณ์ดีหรือไม่ดีมากระทบก็เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย แต่ไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้ลอยไปตามอารมณ์ภายนอกมาก (๑๐) นิกันติ - เกิดความพอใจในอารมณ์ต่างๆ อาทิ นับแต่ข้อ ๑ ถึง ๙ พอใจในนิมิตต่างๆ อันนี้ต้องระวัง ท่านว่านิกันตินี้เอง จะทำให้บุคคลที่ ปฏิบัติติดอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสต่างๆ จนติดชะงักอยู่ตรงนี้ ไม่ก้าวหน้า ต่อไปได้
วิปัสสนูปกิเลสนี้ ต้องระวัง คือ เมื่อปรากฏเกิดขึ้น ก็เพียงมีสติกำหนดรู้ และไม่ไปยึดติด ลุ่มหลง ท่านว่าบางคนก็ถึงกับนึกหรือเชื่อว่าตนเอง หมดกิเลสแล้ว บรรลุแล้วก็มี ทางที่ดีนั้น ในการปฏิบัติหรือฝึกฝนจึงควรจะ มีครูบาอาจารย์หรือผู้รู้ที่มีประสบการณ์มาก รู้ดีและรู้ตรง คอยแนะนำ บอกทางเดินในทุกระยะ เพื่อจะได้เจริญก้าวหน้าทางปัญญาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ติดขัดหรือหยุดชะงักหรือไม่ไปผิดทาง ไม่เฉไฉออกจากทางที่ดีที่ตรงสู่ การพ้นทุกข์ไปเสียก่อน
ารนี้